โครงการ วมว.-มข.

การสร้างกำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องเริ่มต้นตั้งแต่ระดับเยาวชน  โดยคัดสรรผู้เรียนที่มีศักยภาพ (Talented/Gifted Students) เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการ พัฒนาอย่างถูกทางและเหมาะสม  ส่งเสริมให้อัจฉริยภาพที่มีอยู่เบ่งบานอย่างเต็มที่  และได้รับการพัฒนาเป็นนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  การเพิ่มผลิตภาพ  และสร้างนวัตกรรมในภาคการผลิตและภาคสังคม-ชุมชนต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม  ระบบการศึกษาแบบทั่วไปของประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่สามารถรองรับการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียนที่มีศักยภาพได้อย่างเต็มที่และครอบคลุมทั่วถึง  แม้จะมีการส่งเสริมอัจฉริยภาพของนักเรียนกลุ่มนี้ในรูปแบบอื่นๆ  อาทิ  โรงเรียนวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย  คือ   โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์  ที่รับนักเรียนได้เพียงปีละ  240  คน  แต่การทำห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่จัดกิจกรรมส่งเสริมประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ยังทำได้ในปริมาณที่น้อยมาก  ไม่เพียงพอต่อการสร้างฐานกำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เพิ่มขึ้นจนถึงระดับที่เป็นมวลวิกฤต  (Critical  mass) 

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ  ได้เล็งเห็นความจำเป็นดังกล่าว  จึงได้ริเริ่มโครงการ วมว.ขึ้น  ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นและโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์)  ก็เป็น 1 ใน 7 คู่ มหาวิทยาลัย-โรงเรียนที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้  เนื่องจากมีศักยภาพและความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน  และบุคลากร  ที่จะบ่มเพาะให้นักเรียนเข้าใจและรู้ถึงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จนสามารถนำไปใช้ในการทำโครงงานและงานวิจัยที่มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยช่วยดูแล  รวมทั้งนักเรียนจะได้เรียนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ประยุกต์ เพื่อให้เกิดการบูรณาการ  ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีจิตวิญญาณของความเป็นนักวิจัย  นักประดิษฐ์  นักคิดค้น  และนักพัฒนาที่ดี  อีกทั้งเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่อไป